ประวัติศาสตร์ภาคใต้

หน้าแรก ย้อนกลับ ประวัติศาสตร์ภาคใต้

ประวัติศาสตร์ภาคใต้

         

ประวัติศาสตร์ภาคใต้1

 

          ภาคใต้มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์ยาวนาน การแบ่งยุคประวัติศาสตร์ก็ยังไม่ยุติ อย่างไรก็ตามในที่นี้ จะแบ่งประวัติศาสตร์ภาคใต้ออกเป็น 3 ยุค คือ (1) ประวัติศาสตร์ภาคใต้ยุคเริ่มแรก พุทธศตวรรษที่ 7-18 (2) ประวัติศาสตร์ภาคใต้ยุคกลางพุทธศตวรรษที่ 19 ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 25 และ (3) ประวัติศาสตร์ภาคใต้ยุคใหม่กลางพุทธศตวรรษที่ 25 เป็นต้นมา โดยสามารถสรุปได้ดังนี้

          (1) ประวัติศาสตร์ภาคใต้ยุคเริ่มแรก (พุทธศตวรรษที่ 7-18)
          พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของภาคใต้สมัยเริ่มแรกคือ ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 7-18 เป็นเรื่องราวของการอพยพของมนุษย์เผ่าพันธุ์ต่าง ๆ และการหลั่งไหลของอารยธรรมจากภายนอก โดยเฉพาะจากอินเดีย จีน ชวา มอญ เขมร และอาหรับเข้าไปผสมผสานปะปนกันกับวัฒนธรรมดั้งเดิมทางภาคใต้ จนกระทั่งดินแดนทางภาคใต้มีลักษณะเป็นเบ้าหลอมทางวัฒนธรรมและเชื้อชาติของมนุษย์ หลากหลายด้วยความเชื่อ จารีตประเพณี ระบบและสถาบันทางสังคม การเมือง การปกครอง และวัฒนธรรม

          (2) ประวัติศาสตร์ภาคใต้ยุคกลาง (พุทธศตวรรษที่ 18 ถึงกลางพุทธศตวรรษที่ 25)
         ดินแดนภาคใต้ในยุคกลาง อำนาจทางการเมืองตกอยู่ในกำมือคนจำนวนน้อยเพียงไม่กี่ตระกูล คือ ตระกูล
ณ นคร, ณ สงขลา, รัตนดิลก ณ ภูเก็ต, ศรียาภัย ณ พัทลุง ฯลฯ ซึ่งดำรงตำแหน่งเจ้าเมืองและกรมการเมืองอยู่ในเมืองที่สำคัญ ๆ เพียงไม่กี่เมืองคือ นครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง ภูเก็ต พังงา ตะกั่วป่า ตรัง ชุมพร และไชยา รายได้ของ
เจ้าเมืองเหล่านี้เกิดจากการผูกขาดทำภาษีและใช้แรงงานไพร่ ระบบการปกครองยังแยกกันอยู่เป็นเมือง ๆ เป็นอิสระต่อกัน และมีหลายเมืองที่เป็นอริกัน เช่น เมืองนครศรีธรรมราชกับเมืองสงขลา เมืองสงขลากับเมืองปัตตานี
และหัวเมืองชายฝั่งตะวันตก เป็นต้น มีการแบ่งประชาชนออกเป็นกลุ่ม ๆ ตามเชื้อชาติและภูมิลำเนา มีมูลนายเป็นผู้ควบคุมอย่างใกล้ชิด มีความเหลื่อมล้ำทางสังคมอย่างมากระหว่างพวกเจ้าเมือง กรมการเมืองซึ่งเป็นชนชั้น “ผู้ดี” เพราะเป็นชนชั้นอภิสิทธิ์ชนที่มีชีวิตอยู่จากการใช้แรงงานและเก็บภาษีอากรจากชนชั้น “ไพร่” และ “ทาส” ระบบเศรษฐกิจยัง ล้าหลัง ส่วนใหญ่ยังมีการผลิตแบบยังชีพ ที่ดินซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญมีอยู่มากก็จริง แต่ที่ดินที่ดีเกือบหมดตกอยู่ในกำ-มือของเจ้าขุนนางศักดินาและผู้มีอิทธิพลในท้องถิ่น เทคนิคและแบบแผนการผลิตยังล้าหลังคือใช้แรงงานคนและสัตว์เป็นส่วนใหญ่ สินค้าที่ผลิตเป็นสินค้าขั้นปฐม วัตถุดิบ และของป่า การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่เกิดขึ้นตอนปลายของยุคนี้ โดยเฉพาะตั้งแต่ครึ่งหลังของพุทธศตวรรษที่ 24 ก็คือ การขยายตัวของการผลิตเพื่อการค้า มีการแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อส่งออก เช่น โรงสีข้าว โรงงานน้ำตาล ฯลฯ ทำให้เกิดชนชั้นนายทุน นายหน้าเจ้าของโรงงานและธุรกิจขนาดเล็ก ๆ ซึ่งเป็นคนจีน หรือขุนนางซึ่งอยู่ภายใต้การอุปถัมภ์ของชนชั้นศักดินา สภาพการณ์ดังกล่าวทำให้สภาพของสังคมไทยโดยส่วนรวมและทางภาคใต้ตกอยู่ในสภาพที่แตกแยก ล้าหลัง
ถูกเอารัดเอาเปรียบจากชนชั้นสูงมาก สังคมไทยตอนปลายยุคกลางจึงตกอยู่ในสภาพที่เสื่อมโทรม ล้าหลัง และต้องการพัฒนาอย่างเร่งด่วน แต่นับว่าโชคดีที่การพัฒนาสังคมแบบสมัยใหม่ คือ“ลัทธิทุนนิยม” ได้เริ่มต้นขึ้นในยุคกลางและพัฒนาต่อไปในภาคใต้ยุคใหม่

          (3) ประวัติศาสตร์ภาคใต้ยุคใหม่ (กลางพุทธศตวรรษที่ 25 เป็นต้นมา)
         นับตั้งแต่มีการรวมชาติตามระบบมณฑลเทศาภิบาลตอนกลางพุทธศตวรรษที่ 25 นักประวัติศาสตร์โดยทั่วไปยอมรับว่าสังคมไทยเริ่มพัฒนาเข้าสู่ความเป็นสังคมใหม่ ในขณะที่นักเศรษฐศาสตร์ซึ่งศึกษาประวัติศาสตร์เศรษฐกิจไทยมีความเห็นว่าสังคมไทยเริ่มปรับตัวเข้าสู่สังคมสมัยใหม่คือ สังคมทุนนิยม ตั้งแต่เริ่มเปิดประเทศปลาย
พุทธศตวรรษที่ 24 อย่างไรก็ดีในที่นี้ ถือเอาปี พ.ศ. 2435 ซึ่งเป็นปีเริ่มปรับปรุงการปกครองเป็นแบบสมัยใหม่เป็นปีเริ่มต้นประวัติศาสตร์ภาคใต้ยุคปัจจุบัน โดยเป็นเวลาเกือบ 1 ศตวรรษที่สภาพทางการเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมภาคใต้ได้ปรับตัวเข้าสู่รูปแบบใหม่ แตกต่างไปจากยุคกลางหรือสมัยศักดินาอย่างสิ้นเชิง การเปลี่ยนแปลงครั้งนั้นเป็นแบบวิวัฒนาการตามธรรมชาติของสังคมไทยที่มีการปรับตัวเองอยู่เสมอมากกว่าการปฏิวัติ หรือการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน โดยมีรายละเอียดพอสังเขป ดังนี้

             ทางด้านการเมือง การปกครอง มีลักษณะของการปรับตัวจากการปกครองแบบศักดินาหรือสมบูรณาญาสิทธิราชย์เป็นแบบประชาธิปไตยมาตั้งแต่แรกเริ่ม แต่โครงสร้างทางการปกครองได้เปลี่ยนเป็นแบบรวมศูนย์อำนาจเข้าสู่ส่วนกลางอย่างเด่นชัด มีการจัดตั้งรัฐบาลกลางที่เข้มแข็งและมีการจัดตั้งกระทรวง ทบวง กรมต่าง ๆ ขึ้นในส่วนกลาง ให้มีอำนาจบังคับบัญชาหน่วยบริหารใหม่ในส่วนภูมิภาคที่ได้ดำเนินการยุบและแยกเมืองต่าง ๆ ขึ้นเป็น “มณฑล เมือง อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน” ซึ่งทางภาคใต้มีทั้งหมด 4 มณฑล คือมณฑลภูเก็ตตั้งขึ้นในปี
พ.ศ. 2437 จากการรวมเมืองภูเก็ต กระบี่ ตรัง ระนอง ตะกั่วป่า พังงา และสตูล มณฑลนครศรีธรรมราชตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2439 จากการรวมเมืองนครศรีธรรมราช สงขลา พัทลุง และบริเวณ 2 หัวเมืองคือ เมืองปัตตานีและยะลา
มณฑลชุมพรตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2439 จากการรวมเมืองชุมพร หลังสวน ไชยา และกาญจนดิษฐ์ ในปี พ.ศ. 2447 ได้แยกบริเวณ 7 หัวเมือง ออกไปจัดตั้งมณฑลปัตตานีขึ้นอีกมณฑลหนึ่ง ในสมัยรัชกาลที่ 6 ปี พ.ศ. 2458 มีการรวมมณฑลใกล้เคียงขึ้นเป็นภาค มีอุปราชประจำภาคเป็นผู้บังคับบัญชา ทางภาคใต้มีการรวมมณฑลต่าง ๆ เป็น “ภาคปักษ์ใต้” ตั้งกองบัญชาการที่สงขลา และมีการเปลี่ยนชื่อ “เมือง” หรือ “บริเวณ” เป็นจังหวัด เรียกตำแหน่งเจ้าเมืองใหม่ว่า
“ผู้ว่าราชการจังหวัด” เพื่อลบเลือนสิ่งที่ตกค้างมาจาก “ระบบกินเมือง2” ให้หมดไปเปลี่ยนชื่อตำแหน่งข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นสมุหเทศาภิบาล จนกระทั่งถึงปี พ.ศ. 2474 จึงมีการยกเลิกภาคและมณฑลเหลือเพียงจังหวัด
ทางภาคใต้ประกอบด้วยจังหวัดต่าง ๆ 14 จังหวัดคือ ชุมพร ระนอง สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ตรัง กระบี่ พังงา ภูเก็ต สตูล ยะลา ปัตตานี พัทลุง และนราธิวาส

         ทางด้านเศรษฐกิจ ตอนปลายพุทธศตวรรษที่ 24 รัฐบาลกลางได้ยกเลิกระบบการผูกขาดการค้าโดยรัฐ และ    เปิดการค้าเสรีขึ้นทั้งภายในและกับต่างประเทศ ทำให้ระบบเศรษฐกิจไทยแบบดั้งเดิมคือแบบยังชีพเริ่มเปลี่ยนแปลงไปเป็นเศรษฐกิจเพื่อการค้าเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ การค้าต่างประเทศของไทยในยุคนี้ ส่วนใหญ่ตกอยู่ในกำมือของนายทุนต่างชาติและนายทุนเชื้อสายจีน เนื่องจากระบบศักดินาไทยไม่เปิดโอกาสให้คนไทยทั่วไปทำการค้าไม่ว่า    ภายในหรือต่างประเทศนอกจากเจ้าขุนนางศักดินาชั้นสูงไม่กี่คนที่ผูกขาดการค้ากับต่างประเทศเท่านั้น

       ทางด้านสังคม สังคมไทยโดยส่วนรวมและสังคมภาคใต้ปัจจุบันจึงประกอบด้วยชนชั้นต่าง ๆ ในสังคมหลาย    ชนชั้นคือ ข้าราชการ นายทุน กรรมกร และชาวนา การแบ่งชนชั้นเช่นนี้เป็นการแบ่งตามอาชีพ ถ้าจะแบ่งตามลำดับชนชั้นทางสังคมและเศรษฐกิจก็จะมีเพียง 3 ชนชั้นคือ ชนชั้นสูง กลาง และต่ำ ชนชั้นสูง ได้แก่ ข้าราชการผู้ใหญ่ และนายทุนเจ้าของธุรกิจใหญ่ ๆ ชนชั้นกลาง ได้แก่ ข้าราชการทั่วไป และนายทุนน้อย ชนชั้นต่ำ ได้แก่ ชาวนาและกรรมกร การแบ่งชนชั้นในสังคมไทยไม่ว่าจะแบ่งอย่างไร ก็จะมีปัญหาในการจัดแบ่งเป็นอย่างมาก เนื่องจากสังคมไทยโดยเฉพาะสังคมภาคใต้มีลักษณะเป็นสังคมหลายหลาก กล่าวคือมีลักษณะของกลุ่มชนย่อย ๆ ในลักษณะของสังคมย่อยมากมายรวมอยู่ในสังคมใหญ่ คือสังคมภาคใต้ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มชาวไทยพุทธ ชาวจีนหรือชาวไทยมุสลิม มีหลักฐานปรากฏแน่ชัดทั้งในอดีตและปัจจุบันว่า กลุ่มชนเหล่านี้มีความรู้สึกที่ไม่เป็นมิตรกัน หรืออย่างน้อยก็มีความรู้สึกว่าเป็นเขาเป็นเราอย่างเห็นได้ชัดเจน และในบรรดากลุ่มชนเหล่านี้ จะสังเกตเห็นได้ชัดเจนว่าชาวจีนเป็นกลุ่มชนที่มีฐานะดีกว่าชาวพื้นเมือง แม้ชาวจีนส่วนใหญ่จะมีสภาพเป็นคนไทยแล้วก็ตาม แต่สภาพของความแตกต่างด้านต่าง ๆ ก็พอจะชี้ให้เห็นได้ชัดเจน ความแตกต่างทางเศรษฐกิจ ความสำนึกทางชนชั้นที่กำลังขยายตัวออกไป และการกดขี่ขูดรีดจากผู้มีอิทธิพลทั้งในและนอกระบบราชการ เป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สังคมภาคใต้มีความแตกแยกและอยู่ในภาวะตึงเครียด อาการทางสังคมเช่นนี้แสดงออกมาในรูปของขบวนการโจรก่อการร้าย ผู้ก่อการร้ายคอมมิวนิสต์ โจรผู้ร้ายธรรมดา การเรียกค่าไถ่ ปิดสวนยาง อาชญากรรมต่าง ๆ การค้าของหนีภาษี ของเถื่อน โสเภณี และบ่อนการพนันอิทธิพล เป็นต้น จนถึงกับมีผู้กล่าวถึงสังคมภาคใต้ว่า “อยู่ได้เพราะอบายมุข” จึงเป็นสิ่งที่ต้องรีบดำเนินการแก้ไขโดยยึด
ความเป็นธรรม ความเสมอภาค เสรีภาพ และภราดรภาพในลัทธิประชาธิปไตยเป็นหลัก คนต่างเชื้อชาติ ศาสนา และวัฒนธรรมจึงจะอยู่รวมกันได้อย่างสันติ

      ทางด้านวัฒนธรรม ในยุคกลางของภาคใต้ วัฒนธรรมที่ครอบงำสังคมอยู่ก็คือวัฒนธรรมศักดินา สำหรับในยุคปัจจุบันวัฒนธรรมศักดินากำลังเสื่อมสลายไป ขณะเดียวกันวัฒนธรรมแบบประชาธิปไตยกำลังฝังรากลึกลงในสังคมไทยโดยผสมผสานกับวัฒนธรรมดั้งเดิมส่วนที่มีลักษณะเอื้ออำนวยต่อวิถีชีวิตแบบประชาธิปไตย ภาคใต้ยุคปัจจุบันจึงเป็นช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อสำคัญที่สังคมภาคใต้กำลังเคลื่อนไปสู่สังคมแบบประชาธิปไตยยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ในขณะที่
พลังขับเคลื่อนสังคมยังตกอยู่ในกำมือของกลุ่มคนที่เป็นข้าราชการซึ่งสืบทอดมรดกของวัฒนธรรม

 

1 เรียบเรียงโดยสรุปจากเรื่อง “ประวัติศาสตร์ภาคใต้” (หน้า 4321-4341). ในสารานุกรมวัฒนธรรมไทยภาคใต้ เล่มที่ 9.                             (2542). มูลนิธิสารานุกรมวัฒนธรรมไทย ธนาคารไทยพาณิชย์. กรุงเทพฯ.
2 ระบบกินเมือง คือ ระบบการปกครองของประเทศไทยในสมัยโบราณ โดยกษัตริย์จะได้รับส่วยจากการเก็บภาษีใน                                   เมืองต่าง ๆ

แชร์ 8281 ผู้ชม

ประวัติศาสตร์ ชาติพันธุ์ ท้องถิ่น

องค์ความรู้